In Flames Discography

In Flames Discography

เท่าที่จำความได้ นับตั้งแต่เมืองไทยเริ่มมีผู้จัดคอนเสิร์ตรายย่อยถือกำเนิดขึ้นในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มแพร่หลาย ชื่อของ In Flames มักจะเป็นหนึ่งในชื่อที่เราพบได้ตามช่องคอมเมนท์ของทางเพจผู้จัดงานโดยเสมอว่าอยากให้ผู้จัดบ้านเรานำวงนี้มาโชว์ที่ไทย แต่นั่นก็ไม่เคยใกล้เคียงกับความจริงเลย เมื่อช่วงเวลาเหล่านั้น In Flames คือวงเมทัลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในระดับโลก ทำให้มีหลายปัจจัยที่วงไม่สามารถมาแสดงที่ประเทศไทยได้


ทว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 ในที่สุดประเทศไทยก็จะได้มี In Flames เป็นของตัวเองเมื่อทางวงกำลังออกทัวร์ร่วมกับ Kreator แธรชเมทัลตัวกลั่นจากเมืองเบียร์ที่ปัจจุบันเบนเข็มปรับซาวนด์เข้าหาความเป็นเมโลดิกเพาเวอร์เมทัลมากขึ้น การออกทัวร์คู่กันของสองยักษ์ใหญ่ในเวลานี้จึงไม่รู้จักว่ามีความขัดแย้งทางแนวดนตรีมากนักหากเทียบกับในอดีต นับว่าเป็นวาสนาของแฟนๆ สายเมโลดิกเมทัลเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ดูตำนานทั้งสองวงนี้ในงานเดียวกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า In Flames นั้นเป็นหนึ่งในวงที่เป็นศูนย์กลางของกระแสวิจารณ์ทั้งในแง่ลบและบวกมาโดยตลอด เมื่อพวกเขาหันหลังหนีให้กับดนตรีเมโลดิกเดธเมทัลในแบบฉบับโกเธนเบิร์กสไตล์ที่ตัวเองเป็นผู้ร่วมบุกเบิกและส่งต่ออิทธิพลสู่วงรุ่นหลังมากมายไปเอาใจตลาดเพลงอเมริกัน ดนตรีเมทัลคอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบันก็ได้รับอิทธิพลมาจากเมโลดิกเดธของ In Flames เช่นกัน ด้วยการทำเพลงที่โจ๊ะและเบาลงเป็นอย่างมาก ทำให้เมทัลเฮดหลายคนร้องยี้ไปตามๆ กันเมื่อพูดถึงวงนี้ ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้มีปัญหาอะไร แถมยังหลงใหลเป็นอย่างมากกับความไพเราะของเมโลดี้และความบริโภคง่ายแบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ไว้ฟังคั่นเวลาจากเมทัลหนักๆ ได้เป็นอย่างดี ผลงานที่ปล่อยมาก็นับว่าเป็นงานโมเดิร์นเมทัลที่ดีหากไม่ติดว่า ”จำเป็นต้อง” เมโลดิกเดธเมทัลเท่านั้น


ในบทความนี้ Into the Pit จึงอยากแนะนำผลงานเด่นๆ ของ In Flames โดยแบ่งตามยุคสมัยให้ผู้อ่านทุกท่านที่อาจจะยังไม่เคยสัมผัสงานของอีกหนึ่งตำนานของวงการเมทัลได้ไปลองหาฟังกัน หรือแม้แต่เมทัลเฮดชั่วโมงบินสูงที่ติดตามพวกเขามาตั้งแต่อัลบั้มแรกก็สามารถย้อนไปฟังทบทวนเป็นการวอร์มอัพก่อนฟังเวอร์ชั่นสดตรงหน้าก็ได้ อาจจะมีข้อคิดเห็นต่างอย่างไรก็สามารถคอมเมนท์ได้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่าหากพูดถึงผลงานของ In Flames แล้ว มันแทบไม่มีทางเลยที่ความเห็นจะไปในทิศทางเดียวกัน

Lunar Strain (1994) ผลงานชุดแรกสุดของวงที่ปัจจุบันไม่มีสมาชิกที่มีส่วนร่วมกับอัลบั้มนี้เหลืออยู่ในวงแล้ว และเป็นผลงานชุดเดียวที่ไม่มี Anders Fridén นักร้องนำ และ Björn Gelotte มือกีตาร์คู่บุญ โดย Jesper Strömblad ผู้ก่อตั้งวงที่เราอาจจะรู้จักเขาในฐานะมือกีตาร์ แต่ในอัลบั้ม Lunar Strain เขารับหน้าที่เป็นมือกลองควบคู่ไปกับเล่นกีตาร์เป็นพาร์ทเสริม สิ่งที่น่าสนใจคือฟรอนท์แมนของ In Flames ในเวลานั้นคือ Mikael Stanne กระบอกเสียงของ Dark Tranquillity ในขณะที่นักร้องนำของ Dark Tranquillity ก็คือ Anders Fridén ก่อนที่ทั้งคู่จะสลับวงกันในอัลบั้มชุดที่ 2 ของทั้งสองวงและกลายตำนานวงตัวเองมาจนถึงวันนี้ อัลบั้มนี้คือนิยามของดนตรีเมโลดิกเดธเมทัลจากเมืองโกเธนเบิร์กยุคแรก แม้อาจจะไม่ใช่ผลงานที่มีความเป็น In Flames ในแบบคลาสสิคแต่ก็นับเป็นหนึ่งในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงการเมทัล กระทั่งในปัจจุบัน In Flames ก็ยังหยิบเอา Behind Space เพลงจากอัลบั้มนี้มาเล่นในทัวร์ของพวกเขาอยู่เลย (มีเวอร์ชั่นบันทึกเสียงใหม่ในอัลบั้ม The Jester Race ด้วยสมาชิกในตอนนั้น) เชื่อว่าที่ไทยก็จะได้ฟังเพลงนี้เช่นกัน


The Jester Race (1995) ผลงานชุดสองกับคลาสสิคไลน์อัพของวง เปิดตัวกับสังกัดเมทัลยักษ์ใหญ่ Nuclear Blast เป็นชุดแรก อีกทั้งยังเป็นอัลบั้มแรกที่วงเปิดตัวมาสคอต Jester Head บนปกอัลบั้มด้วยเช่นกัน อัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของวง ก่อนจะสานต่อความสำเร็จด้วยทิศทางดนตรีที่ลงตัวและมีความเป็นเอกลักษณ์ในซาวนด์เฉพาะตัวมาจนถึงอัลบั้มชุดที่ 5


Clayman (2000) ผลงานทั้ง 4 ชุดได้โปรดิวเซอร์มือทอง Fredrik Nordström มาร่วมโปรดิวซ์ นับเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของวงในฐานะวงเมโลดิกเดธเมทัล แนะนำให้ผู้อ่านได้ฟังผลงานทั้ง 4 ชุดแบบยาวๆ ทุกเพลง หากชอบเมโลดิกเดธ เชื่อว่าจะไม่ผิดหวัง


Reroute to Remain (2002) อัลบั้มที่มีทั้งคนรักและเกลียดมากที่สุดของวง ด้วยซาวนด์ที่เปลี่ยนไปจนเกือบจะเป็นอีกวงรวมถึงท่อนคลีนที่ถูกเพิ่มเข้ามา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลงานที่ยกระดับชื่อเสียงของ In Flames ไปสู่ตลาดอเมริกันและเมนสตรีมมากขึ้น เป็นชุดแรกที่ไม่ได้ใช้บริการของโปรดิวเซอร์ Fredrik Nordström โดยผู้ดูแลทิศทางของอัลบั้มนี้คือ Daniel Bergstrand อีกหนึ่งโปรดิวเซอร์คนดังชาวสวิดิช แม้ว่าจะถูกสาปแช่งแค่ไหน แต่เพลงอย่าง Cloud Connected ก็ยังเป็นแทร็คที่คลาสสิคที่สุดตลอดกาลของวงที่ไม่ว่ายังไงพวกเขาต้องหยิบมาเล่นแทบทุกโชว์จนถึงปัจจุบันอยู่ดี เชื่อว่าหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียนที่จะไปดู In Flames เดือนหน้านี้ก็คาดหวังที่จะได้ฟังวงบรรเลงเพลงนี้สดๆ ต่อหน้าสักครั้ง


Come Clarity (2006) โดยส่วนตัวแล้วนี่คืออัลบั้มของวงที่ผู้เขียนชอบที่สุดของวง พวกเขานำเอาความหนักหน่วงสมัยเมโลดิกเดธเมทัลมารวมกับซาวนด์โมเดิร์น/อัลเทอร์เนทีฟเมทัลยุคใหม่อย่างลงตัวกลมกล่อมตอบโจทย์แฟนทั้งสองยุค ลูกฮาร์โมนิคสอดประสานระหว่างกีตาร์คู่และท่อนโซโล่สวยๆ กลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง โดยที่ยังคงความ “หล่อ” ของงานยุคเมนสตรีมเอาไว้ได้ ประสบความสำเร็จทั้งในแง่เสียงวิจารณ์จากฝั่งเมทัลและชาร์ทเพลงฝั่งเมนสตรีม Take This Life ซิงเกิ้ลเปิดตัวอัลบั้มนี้ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และถูกนำไปบรรจุในเกม Guitar Hero III: Legends of Rock อีกด้วย


Sound of a Playground Fading (2011) ผลงานชุดแรกและชุดเดียวที่รีลีสผ่านสังกัด Century Media และยังเป็นอัลบั้มแรกที่ Jesper ถอนตัวออกจากวงด้วยปัญหาอาการติดแอลกอฮอล์ Björn ที่รับหน้าที่เขียนเพลงแทนทั้งอัลบั้มก็เพิ่มความน่าหมั่นไส้ให้เมทัลเฮดด้วยการลดสัดส่วนของดนตรีเมทัลลงไปอีก ในอัลบั้มนี้ Anders ได้ปรับแนวทางการร้องให้มีการใช้เรนจ์เสียงที่หลากหลายและมีท่อนคลีนที่มากขึ้น สามารถพูดได้ว่านี่คือหนึ่งในผลงานที่มีพาร์ทโวคัลและเมโลดี้ไพเราะที่สุดของวง จึงไม่น่าแปลกที่มันจะยังคงประสบความสำเร็จอย่างสูงบนชาร์ทเพลงต่างๆEnter


A Sense of Purpose (2008) อัลบั้มสุดท้ายที่ร่วมงานกับ Jesper Strömblad สมาชิกยุคก่อตั้ง เท่ากับว่าตอนนี้วงไม่มีสมาชิกจากอัลบั้ม Lunar Strain เหลืออยู่แม้แต่คนเดียว แนวทางของผลงานชุดนี้ยังคงสานต่อแนวทางจาก Come Clarity ในแง่ของซาวนด์ ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากฝั่งดนตรีเมนสตรีมในอเมริกา ทะยานขึ้นถึงอันดับ 28 บนชาร์ท Billboard 200

Siren Charms (2014) ด้วยความสำเร็จบนชาร์ทเพลงฝั่งอเมริกา ทำให้ Siren Charms เป็นผลงานชุดแรก (และชุดเดียว) ที่ได้เซ็นสัญญาวางจำหน่ายในอเมริกากับสังกัด Epic Records ในเครือ Sony Music Entertainment อัลบั้มนี้ทะยานขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ท US Top Hard Rock Albums และได้อันดับที่ 26 บนชาร์ทหลักอย่าง Billboard 200 เอาใจตลาดอเมริกาไปอีกขั้นด้วยเพลงที่มีอิทธิพลของดนตรีโพสต์กรันจ์อย่าง Through Oblivion แต่อย่างไรก็ตาม Rusted Nail ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้มคือเพลงระดับท็อปเทียร์ของวงในยุคเมนสตรีม หวังว่าจะได้ฟังเพลงนี้สดๆ ในไทยด้วยเช่นกันครับ


Foregone (2023) หลังจากอัลบั้ม Battles และ I, The Mask ที่ไม่น่าจดจำเท่าไร รวมถึงยังมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนตัวสมาชิกจนอาจจะทำให้ทิศทางของวงไม่นิ่ง ในที่สุดวงก็หาที่หาทางจนเจอในอัลบั้มล่าสุด Foregone ที่กลับไปเล่นซาวนด์เมโลดิกเดธเมทัลอีกครั้ง อัลบั้มนี้ได้ Chris Broderick (ex-Nevermore, Megadeth) มาแทน Niclas Engelin ในขณะที่มือกลองก็รับ Tanner Wayne อดีตสมาชิก Chiodos ที่มีพื้นฐานมาจากดนตรีสายโพสต์ฮาร์ดคอร์เข้ามาเป็นสมาชิกหลักเต็มตัว

Foregone นำเอาความหนักหน่วงกลับมาสู่งานของวงโดยที่ยังคงคาแรกเตอร์ซาวนด์ในปัจจุบันของวงเอาไว้ สื่อสายเมทัลหลายสำนักยกให้อัลบั้มนี้เป็นผลงานที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ Come Clarity เพลงอย่าง State of Slow Decay, Meet Your Maker, Foregone, Pt. 1 หรือ The Great Deceiver คือเครื่องยืนยันถึงความดีงามดังกล่าว คาดว่าพวกเขาน่าจะใส่เพลงเหล่านี้ไว้ในเซ็ตลิสต์ที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ก็นับว่าเป็นโอกาสและจังหวะเวลาอันดี เมื่อ In Flames กำลังจะมาแสดงที่ประเทศไทยหลังจากเพิ่งออกผลงานชั้นยอดที่คืนฟอร์มสวยหรูอย่าง Foregone ออกมาอีกทั้งยังมาพร้อมไลน์อัพที่แข็งแกร่ง ในส่วนของมือเบสที่ยังไม่มีคนมาแทน Pryce Paul ก็คาดว่าจะยังคงใช้บริการของ Liam Wilson ยอดฝีมือจาก The Dillinger Escape Plan เช่นเคย เป็นไลน์อัพที่โคตรน่าดู แถมยังพ่วงด้วยอีกหนึ่งจอมเก๋าอย่าง Kreator อีก สำหรับผู้อ่านที่สนใจก็อย่าลืมไปจับจองบัตรกันครับ โอกาสที่จะได้ดูทั้งสองวงไม่ได้มีมาง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ In Flames ที่เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน รายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา รวมถึงราคาบัตร ติดตามได้ที่ทางเพจผู้จัด DNR Record ได้เลยครับ

ITP TEAM

กองบรรณาธิการ Into The Pit Online

Related Posts

Fear Factory Live in Bangkok

Fear Factory Live in Bangkok

ซามูไรเมทัลวงแรกของโลก RYUJIN

ซามูไรเมทัลวงแรกของโลก RYUJIN

คาวาอี้เมทัล ALMONDot ไม่เต้น เล่นดนตรี

คาวาอี้เมทัล ALMONDot ไม่เต้น เล่นดนตรี

Dogma วงแม่ชีเมทัล

Dogma วงแม่ชีเมทัล

No Comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *