9 อัลบั้มเมทัลธีมทะเล พาคุณคลายร้อนในฤดูแดดเผา

9 อัลบั้มเมทัลธีมทะเล พาคุณคลายร้อนในฤดูแดดเผา

Parkway Drive – Deep Blue (2010)
  1. Parkway Drive – Deep Blue (2010)

พลพรรคเมทัลคอร์ตัวเอ้อดีตขวัญใจวัยรุ่น พวกแสดงให้เห็นความเติบโตในทุกอัลบั้มตามประสบการณ์และวัยวุฒิ ซึ่ง Deep Blue ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามรังสรรค์ผลงานลุ่มลึกจากการเปรียบการเดินทางสำรวจอารมณ์และความคิดลงไปสู่ก้นบึ้งในจิตใจดังการดิ่งไปตามความลึกของท้องสมุทร โดยใช้มวลเมทัลข้นเข้มเต็มไปด้วยกรูฟหักคอและริฟฟ์ chugging หนาหนัก พร้อมเสียงร้องล้นโทสะขับเคลื่อน ในแง่ไดนามิกอาจจะลดลงจากอัลบั้มชุดก่อน ทว่าความอึดอัดอันชวนหฤหรรษ์นั้นมันช่างเข้ากับธีมของอัลบั้มดีเป็นอย่างยิ่งเลย

The Ocean – Pelagial (2013)

2. The Ocean – Pelagial (2013)

แน่นอน เราจะหยิบงานชุดไหนของชาว atmospheric sludge/post-metal  หัวก้าวหน้าจากประเทศเยอรมันนีกลุ่มนี้มาก็ได้ ทว่า Pelagial ชุดนี้แลควรค่าแก่การถูกพูดถึงเป็นพิเศษ กับไอเดียคอนเซ็ปต์เปรียบเปรยการดำดิ่งสำรวจสภาวะจิตไปจนถึงส่วนก้นบึ้งหัวใจกับการดำไต่ระดับทะเลจากส่วนตื้นไปยังอาณาเขตทะเลลึกอันน่าสะพรึง พร้อมการเดินทางของดนตรีที่ค่อย ๆ ทวีความมืดหม่น กดดัน รวมถึงหมองเศร้าและอ้างว้างราวเคว้งคว้างกลางความมืดเมื่ออัลบั้มดำเนินไป เป็น musical journey ชั้นเยี่ยมที่คอเมทัลสายครุ่นคิดควรได้สดับทุกคน 

Mastodon – Leviathan (2004)

3. Mastodon – Leviathan (2004)

สตูดิโออัลบั้มหมายเลขสองและงานแจ้งเกิดของขุนพลโปรเกรสสีฟเมทัลนามกระเดื่อง ชวนคุณตั้งเสากระโดงเรือออกตะลุยน่านน้ำไปพบเรื่องราวการตามล่าและโรมรันระหว่างวาฬยักษ์สีขาว Moby Dick และกัปตันขาด้วน Ahab ผู้เกรี้ยวกราด ดังอ้างอิงจากวรรณกรรมอมตะของ Herman Melville ผ่านดนตรีเมทัลนวดหนักหนืดโครงสร้างสร้างซับซ้อน ตัดสลับริฟฟ์ดุดันและเสียงร้องตะคอกแข็งกร้าว ให้ความรู้สึกรุนแรงปนอัศจรรย์ ราวกับเราเป็นสักขีพยานผู้กระหืดหอบคนหนึ่งบนเรือ Pequod อย่างไรอย่างนั้นจริง ๆ

Ahab – The Call of the Wretched Sea (2006)

4. Ahab – The Call of the Wretched Sea (2006)

อีกหนึ่งอัลบั้มมหาสมุทราเมทัลที่ดำเนินเพลงบนเรื่องราวรรณกรรมเอก Moby Dick หากแต่มาในบริบทสุ้มเสียงหม่นมืดอนธกาล เชื่องช้าจนอึดอัด ทั้งแฝงเร้นความเศร้าล้ำลึกในทุกอณูตามปรัชญา Funeral Doom Metal ราวกับฉีดสารนำโรคหวาดกลัวทะเล (Thalassophobia) ลงไปในส่วนผสม พร้อมลงไปสำรวจส่วนที่ลึกกว่าในหัวใจของตัวละคร นี่คืองานเพลงตัวแทนแห่งความชั่วร้ายแห่งแดนธาราที่มีผลอย่างร้ายกาจต่อสุขภาพจิตใจ แต่สำหรับเมทัลเฮดบางจำพวกนั้นไซร้คงมองความบีบคั้นทรมานนั้นเป็นสิ่งบันเทิงอารมณ์ได้เช่นกัน

Devin Townsend – Ocean Machine: Biomech (1997)

5. Devin Townsend – Ocean Machine: Biomech (1997)

แรกเริ่มเดิมที Devin หมายมั่นให้โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า Ocean Machine เป็นขั้วตรงข้ามสีน้ำเงินคราม ผิดกับความเกรี้ยวกราดแหกกลางนรกของ City โดย Strapping Young Lad ซึ่งออกในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งแม้เนื้อหาทั้งหมดแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับทะเล แต่มันก็ควรค่าต่อการติดโผอย่างยิ่งยวดในฐานะความเป็นเมทัลเสียงแปลกใหม่ที่ผสมผสานความแน่นหนักเข้ากับโปรดักชันลอยล่องคลุ้งรีเวิร์บและเลเยอร์ซาวนด์ ให้สัมผัสดั่งความชุ่มฉ่ำล้ำลึกของมวลธารา ควบคู่กับแรงดันอันหนักอึ้งของมัน เป็นพาหนะสวยหรูไม่เหมือนใครให้กับเนื้อหาผสานรวมความเศร้า อ้างว้าง ระคนเจ้บปวดและกดดัน ซึ่งหากคุณอินมาก ๆ อาจเกิดความอยากพกงานชุดนี้ไปเปิดฟังริมชายทะเลเคว้างคว้างในวันคลื่นลมสงบนิ่งงัน ให้มันดิ่งถึงก้นบึ้งแห่งอารมณ์ก็เป็นได้ 

Haken – Aquarius (2010)

6. Haken – Aquarius (2010)

เดบิวท์อัลบั้มจากบริติชแบนด์ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วทุกหย่อมหญ้าอาณาจักรโปรเกรสสีฟร็อคและเมทัล มันเต็มไปด้วยความหาญกล้าท้าทาย หาใช่เพียงดนตรีบรรเจิดเลิศล้ำที่เคลื่อนไหวดั่งสายน้ำจากเย็นเยือกและนิ่งงัน เป็นหน้าฉากให้ไดนามิกสายวุ่นดังชีวิตไต้ผืนธารา ไปจนถึงคลื่มโถมซัดสาดกลางพายุร้าย แต่ยังรวมถึงคอนเซ็ปต์ชวนเกาหัว เอ่ยถึงเงือกสาวผู้ถูกจับตัวไปขายกลายเป็นนางโชว์ในคณะละครสัตว์ ก่อนสุดท้ายมนุษย์จะพบว่าเลือกศักดิ์สิทธิ์ของนางนั้นเป็นสิ่งเดียวที่จะปกป้องมนุษย์จากอุทกภัยล้างโลกอันเป็นผลจากวิกฤติโลกร้อน คือมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างบ้าและ cheesy นะ แต่นั่นแหละคือเสนห์ที่ทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักพวกเขา 

Amorphis – Tales from the Thousand Lakes (1993) 

7. Amorphis – Tales from the Thousand Lakes (1993) 

อันนี้แอบโกง เพราะไม่ใช่ทะเล แต่เป็นอัลบั้มที่พาคุณไปทัวร์ Finland แดนทะเลสาบนับพัน (จริง ๆ มีเป็นแสนนะ) ผ่านบทเพลงที่นำเอาส่วนหนึ่งของมหากาพย์วรรณคดีประจำชาติ Kalevala มาเล่าตีความในรูปแบบดนตรีเมทัล (ก่อนจะกลายเป็นกิมมิกหลักของวงต่อเนื่องอีกหลายปี) พร้อมขยับขยายวิสัยทัศน์ทางดนตรี นำเอาเมโลดี้เสนาะหู กลิ่นอายโฟล์คพื้นถิ่น และอิทธิพลโปรเกรสสีฟร็อคยุค 70s มาเติมแต่งและลดอุณหภูมิความร้อนแรง กลายเป็น Death Metal ที่คุณสามารถสดับเพื่อผ่อนคลายหรือหลับตาจินตนาการตามเรื่องราวได้อย่างเพลิดเพลินเลยเชียว   

Nightwish – Oceanborn (1998) 

8. Nightwish – Oceanborn (1998) 

ผลงาน breakthrough ที่ช่วยสถาปนาหนุ่มสาวชาวฟินน์กลุ่มนี้เป็นเฮฟวี่เวธแห่งดินแดน Symphonic Metal มาจวบจนปัจจุบัน กับทุกองค์ประกอบที่ถูกอัพเกรดค่าพลังจากอัลบั้มแรกเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะซาวนด์อันใหญ่โตโอฬารแบบ cinematic จัดซึ่งมีความยึดโยงกับเสน่หา ความลี้ลับ และความโรแมนติกอย่างลึกซึ้งที่เรื่องราวแฟนตาซีแห่งท้องสมุทรฝากไว้ให้ โดยเสียงโซปราโนล้นมนตราของ Tarja Turunen นั้นเปรียบเสมือนเสียงเพรียกจากภูตไซเรนที่ดูดดึงลวงล่อให้ผู้ได้สดับถูกดูดกลืนเข้าไปในโลกอัลบั้มที่ หากพลั้งพลาดปลงใจให้ไปแล้วก็อาจไม่สามารถถอนตัวได้อีกเลย

Savatage – The Wake of Magellan (1997)

9. Savatage – The Wake of Magellan (1997)

ตำนานเฮฟวี่เมทัลสาย Cinematic ก็มีขายทริปท่องสมุทรกับเขาเหมือนกัน เป็นเรื่องราวของ Ferdinand Magellan ผู้ตัดสินใจออกเรือสู่ทะเลกว้างเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยมุ่งหมายจบชีวิตตัวเองกลางดินแดนอุทก แต่กลับพบความหมายและแรงบันดาลใจใหม่ให้เลือกใช้ชีวิตอยู่ต่อ โดยดนตรีที่คอยสนับสนุนนั้นนั้นโดดเด่นด้วยงานคีย์บอร์ดของ Jon Oliva เฉิดฉาย สร้างบรรยากาศและความดราม่าอย่างทรงประสิทธิภาพ เคียงข้างฝีบรรเลงโดยสองขุนขวานขั้นเทพ ทั้งอุดมด้วยเมโลดี้ระดับแกรนด์ ทั้งหมดนี้การันตีเลยว่าคุณจะอินตามกับการเดินทางของกัปตันผู้โดดเดี่ยวได้ในทุกโมเมนต์แน่นอน

ITP TEAM

กองบรรณาธิการ Into The Pit Online

Related Posts

Hammersonic Festival 2024

Hammersonic Festival 2024

Fear Factory Live in Bangkok

Fear Factory Live in Bangkok

HAKEN – Fauna Expedition Tour: Live In Bangkok 2024

HAKEN – Fauna Expedition Tour: Live In Bangkok 2024

Review Brotherhood Brutality – 10 Years Anniversary  24 – 25 March 2024

Review Brotherhood Brutality – 10 Years Anniversary 24 – 25 March 2024

1 Comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *